Introvert คนที่มีบุคลิกเก็บตัวและมีโลกส่วนตัวค่อนข้างสูง

เคยไหม!!? คุณพบว่าการพูดคุยเล็กๆ น้อยๆ ที่เรียกกันว่า “Small talk” นี่มันเหนื่อยชะมัด ยิ่งถ้าจะต้องไปพบปะสังสรรค์กับคนที่ไม่รู้จักมาก่อนล่ะก็ ยิ่งไม่อยากไปเอาเสียเลย ถ้ามีใครชวนไปปาร์ตี้ คุณก็อาจจะไปอยู่ในงานได้แป๊บหนึ่ง แล้วสักชั่วโมงหรือสองชั่วโมงต่อมา ในขณะที่เพื่อนๆ สนุกกันอยู่ คุณก็ไม่สนุกเสียและอยากกลับบ้านเสียแล้ว คุณอยากกลับไปสู่ในพื้นที่ส่วนตัว (Private zone) ในห้องของคุณ, พื้นที่ที่คุณรู้สึกปลอดภัย นอนนิ่งๆ ดูซีรีส์เรื่องโปรดหรืออ่านหนังสือที่อ่านค้างไว้มากกว่า

คุณชอบพิมพ์มากกว่าชอบเจอหน้า แต่ถ้าเจอหน้าแล้วได้คุยยาวๆ คุยลึกๆ คุณก็ชอบเหมือนกัน

คุณมีบทสนทนากับตนเองบ่อยๆ และบางครั้ง ก็ทบทวนตัวเองครั้งละนานๆ

เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณต้องพรีเซนต์งานต่อหน้าคนจำนวนมากๆ – ไม่ใช่ว่าคุณจะทำไม่ได้นะ คุณทำได้แหละ – แต่หลังจากที่พรีเซนต์งานเสร็จ ก็ดูเหมือนว่าเรี่ยวแรงของคุณจะหายไปไหนไม่รู้ และคุณต้องใช้เวลา ‘ชาร์จ’ พลังงานให้กลับมาใหม่ด้วยการอยู่คนเดียวนิ่งๆ สักพัก

ถ้าคุณเป็นทั้งหมดที่ว่ามา – คุณก็อาจเป็น Introverts!

i

โลกนี้มีมากกว่า Introvert กับ Extrovert

อันที่จริงแล้วการแบ่งคนเป็นประเภทๆ นั้นถึงแม้ในปัจจุบันอาจถูกมองว่าเป็นการทำให้โลกที่ความจริงแล้วซับซ้อน ลดรูปลงจนง่ายดายเกินไป แต่การแบ่งคนแบบนี้ ก็ยังมีประโยชน์ในการทำให้เราเข้าใจแนวคิดเบื้องต้น ก่อนที่เราจะยอมรับความซับซ้อนของโลก และเปลี่ยนแปลง ปรับปรุงโมเดลพื้นฐานในภายหลัง

แนวคิดเรื่องการแบ่งคนเป็น Introvert กับ Extrovert นั้นสามารถสืบสาวไปได้ถึงนักจิตวิทยาชื่อดังอย่างคาร์ล จุง โดยง่ายที่สุด เราอาจแยก Introvert เป็นคนที่มักถูกมองว่ารักษาเนื้อรักษาตัว (Reserved – ไม่ใช่เก็บตัวนะครับ, แต่เป็นคนที่ค่อนข้างระวังคำพูดคำจา) และนิ่งลึก (Reflective) ในขณะที่ Extroverts มักถูกมองว่าพูดเก่ง (talkative) ชอบปฏิสัมพันธ์ และมีกระตือรือร้น (enthusiastic) กว่า

introvertvsextrovert.jpg

การแบ่งคนสองประเภทนี้มักถูกโยงไปถึง ‘การชาร์จพลังงาน​‘ โดยอธิบายว่า Introvert นั้นจะ ‘ชาร์จพลังงาน’ ได้จากการอยู่คนเดียว การทำกิจกรรมเงียบๆ อย่างเช่นการอ่านหนังสือ การเขียน การตกปลา เดินป่า ฯลฯ (พูดง่ายๆ คือ ถ้าทำกิจกรรมพวกนี้แล้วพวกเขาจะมีพลังงานไปทำอย่างอื่นมากขึ้น) ในขณะที่ Extrovert จะชาร์จพลังงานได้จากการทำกิจกรรมกับคนอื่น การปาร์ตี้ สังสรรค์ ฯลฯ

เดิมที Introvert-Extrovert นั้นถูกมองว่าแยกขาดออกจากกัน คุณจะต้องเป็น Introverts หรือ Extrovert อย่างใดอย่างหนึ่งเท่านั้น แต่หลังๆ มา เริ่มมีการมองที่ซับซ้อนกว่านั้น โดยมองว่า Introvert-Extrovert นั้นเป็นเหมือนสเปกตรัม คุณอาจมีความเป็น Introvert มากกว่า Extrovert  (แต่ไม่ได้แปลว่าคุณเป็น Introvert โดยสมบูรณ์เสมอไป) ในการแบ่งแบบนี้จะเรียกคนที่อยู่กลางๆ สเปกตรัมว่า Ambivert คือคนที่มีคุณลักษณะของทั้ง Introvert และ Extrovert ผสานกัน

scale.png

ความแตกต่างของ Introvert และ Extrovert นั้นมีผู้อธิบายว่าจริงๆ แล้วเป็นความแตกต่างในระดับสมองเลยทีเดียว คำอธิบายหนึ่งบอกว่า Introvert กับ Extrovert มีระดับการตอบสนองต่อ Dopamine และ Acetylcholine (สารเคมีที่มักถูกเชื่อมโยงกับความสุข) ที่แตกต่างกัน เขาบอกว่า Introvert นั้น ‘ชอบ’ Acetylcholine มากกว่า Dopamine และ Acetylcholine นั้นจะทำให้เรารู้สึกดีเมื่อเราค้นหาความสุขจากภายใน (Turn Inward) ส่วน Dopamine นั้นทำให้เราค้นหาความสุขจากภายนอก (เช่นได้เงิน, ไต่ระดับความสำเร็จทางสังคม หรือเมื่อมีคนที่เราชื่นชอบมาสนใจเรา)

6-Illustrations

นอกจากการแบ่งที่ซับซ้อนขึ้นเป็นสเปกตรัมแล้ว ในปัจจุบันยังมีคำอื่นๆ ที่ชวนงงงวยขึ้นอีก อย่างเช่นคำว่า Extroverted Introvert ซึ่งมีคนนิยามว่าเป็น Introvert ที่สามารถ ‘เปิดโหมด’ Extrovert ได้ แต่ก็ใช้ได้อย่างจำกัด คือสามารถปาร์ตี้ได้นะ แต่ก่อนออกไปปาร์ตี้ต้อง ‘ทำใจ’ หรือ ‘เตรียมใจ’ ก่อน แล้วพอเปิดโหมดแล้ว พอหมดพลังงานเมื่อไหร่ก็พร้อมที่จะหนีกลับบ้านได้ทันที เป็นต้น

นอกจากนั้น ยังมีความพยายามในการแบ่ง Introvert ออกเป็นลักษณะย่อยๆ  โดย Jonathan Cheek นักจิตวิทยาจากวิทยาลัย Wellesley เสนอการแบ่ง Introvert ออกเป็นสี่ลักษณะซึ่งไม่แยกขาดออกจากกัน (อินโทรเวิร์ตจะมีส่วนผสมของสี่ลักษณะนี้มากน้อยแตกต่างกัน) จากการสำรวจผู้ใหญ่ 500 คน

4 ลักษณะ (หรือให้เข้าใจง่ายคือ ‘มาตรวัด’) นี้คือ

Social – Introvert จะไม่ชอบเข้างานสังคมที่มีคนมากๆ แต่จะชอบเข้าสังคมกับกลุ่มเพื่อนขนาดเล็ก หรืออยู่คนเดียว

Thinking –  Introvert ที่มีมาตรด้านนี้สูงจะชอบดำดิ่งกับความคิดของตนเอง Cheek เปรียบเทียบโดยใช้ตัวละครจากแฮร์รี่ พอตเตอร์ว่า “เขาจะมีความเป็นลูน่าร์ เลิฟกู้ด มากกว่าเนวิลล์ ลองบัตท่อม”

Anxious – Introvert ที่มีลักษณะนี้สูงจะคิดเรื่องเดิมวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า และมักจะระมัดระวังการวางตัว (self conscious) มากๆ เวลาอยู่กับคนอื่น

และ Restrained – Introvert ที่มีลักษณะนี้สูงจะคิดก่อนทำหรือพูด และจะค่อยๆ ทำทุกสิ่งทุกอย่างด้วยการถือครองสติ

โมเดลการแบ่ง Introvert ของ Cheek ที่เรียกว่า STAR (มาจากตัวย่อของสี่ลักษณะ) นี้ ทำให้เราเห็นภาพของ Introvert ว่าไม่ได้มีเพียงแบบเดียว แต่ในตัว Introvert เองก็มีลักษณะที่หลากหลายแตกต่างกัน คนหนึ่งอาจเป็น Introvert ที่เก็บตัวและคิดวนซ้ำแล้วซ้ำเล่า ในขณะที่อีกคนอาจมีลักษณะชอบฝันฟุ้งและชอบพูดคุยกับกลุ่มเพื่อนขนาดเล็กมากกว่าก็ได้

โลกที่คนหมั่นไส้ Introvert

ความสนใจเรื่อง Introvert ในต่างประเภทนั้นพุ่งสูงขึ้นหลังจากหนังสือชื่อ Quiet : The Power of Introverts in a World That Can’t Stop Talking และ TED Talk ของ Susan Cain เป็นกระแสในปี 2005 หลังจากนั้นก็มีบล็อก, คอร์สเรียน, การสัมมนาอบรม, หนังสือ และสื่อเกี่ยวกับ Introvert ออกมาเต็มไปหมด จนหลายคนอาจนึกรำคาญ

มีคนเข้าใจผิดบ้างว่า Introvert เป็นโรค ซึ่งจริงๆ แล้วไม่ใช่ (ทำให้สงสัยด้วยว่า ทำไมถึงเข้าใจอย่างนั้นกันนะ) Introvert เป็นเพียงลักษณะของคนแบบหนึ่งเท่านั้น บางคนก็เชื่อมโยงการเป็น Introvert กับโรคซึมเศร้า ซึ่งถึงแม้จะมีรายงานว่าคนที่เป็น Introvert อาจมีความเสี่ยงจากการเป็นโรคซึมเศร้ามากกว่า Extrovert (เพราะพวกเขาอาจไม่ชอบเชื่อมโยงกับสังคมนัก) แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าคนที่เป็น Introvert จะเป็นโรคซึมเศร้า หรือคนที่เป็นโรคซึมเศร้าจะต้องเป็น Introvert เสียหน่อย

นอกจากนั้น ยังมีคนเหน็บแนมอยู่บ้างว่า Introvert นั้นถึงแม้จะเป็น Introvert ก็ยังสามารถเขียนบรรยายความรู้สึกนึกคิดวิเคราะห์ตัวเองได้เป็นหน้าๆ (เหมือนกับว่า เขามีอคติว่า Introvert ไม่ควรจะ ‘กล้าแสดงออก’ ขนาดที่จะบรรยายตัวเองได้ขนาดนี้สิ) จริงๆ แล้ว การบรรยายความรู้สึกนึกคิด และการจมดิ่งกับความคิดของตัวเอง (Reflective) นั้นเป็นลักษณะของ Introvert โดยทั่วไปอยู่แล้ว และการสื่อสารออกมาด้วยการเขียนก็ไม่ใช่เรื่องยากสำหรับพวกเขา และอันที่จริงแล้ว การบรรยายความรู้สึกนึกคิดของตน (โดยเฉพาะ เมื่อไม่ได้ทำให้คนอื่นเดือดร้อน) ก็ควรจะเป็นสิทธิที่ใครก็ตามพึงทำได้อยู่แล้ว

ความหมั่นไส้เหล่านี้อาจเป็นเพราะพวกเขารู้สึกว่าพวกที่เรียกตัวเองว่าเป็น Introvert นั้น ‘ดูรู้จักตัวเองดีซะเหลือเกิน’ ‘ดูบูชาความจริงแท้เสียเหลือเกิน’ ‘ดูคิดว่าตัวเองลุ่มลึกเหลือเกิน’ หรือไม่ก็เป็นกระแสต้านกลับอย่างเป็นธรรมชาติ ที่ว่าเมื่อมีอะไรอย่างใดอย่างหนึ่งถูกพูดถึงมากๆ ก็ย่อมต้องมีคนเห็นค้านออกมาทวงคืนพื้นที่เป็นเรื่องธรรมดา

woman_reading

อันที่จริงแล้ว ณัฏฐ์คิดว่าการแบ่งคนว่าเป็น Introvert หรือ Extrovert นั้น เป็นไปเพื่อให้แต่ละคนเข้าใจสภาพของตนเอง เหล่า Introvert ไม่ได้พูดว่าตัวเองเป็น Introvert เพื่อทวงสิทธิ์ หรือเพื่อเรียกร้องความเข้าใจจากคนอื่นนัก เมื่อเข้าใจว่าตนเองชอบหรือไม่ชอบอะไร ได้รับพลังงานหรือถูกดึงพลังงานจากสถานการณ์แบบไหนแล้ว พวกเขาก็จะสามารถใช้ชีวิตอย่างมีศักยภาพและมีความสุขได้มากกว่าเดิม

พวกเราไม่ได้บอกว่าตัวเองเป็น Introvert เพื่อขอให้คนอื่นที่ไม่ได้เป็นมาเข้าใจ แต่พวกเราบอกว่าตัวเองเป็น Introvert เผื่อว่าคนที่เป็นเหมือนกัน จะได้รู้สึกไม่โดดเดี่ยว, เข้าใจเรา, และเราจะได้เข้าใจเขาด้วย ต่างหาก

ปล. คนเขียนเคยเป็น Introvert นะคะ แต่อัพสกิลมาเป็น Ambivert เมื่อไม่กี่ปีที่ผ่านมา และการที่บอกว่า เป็น Introvert มันเหนื่อย ก็ไม่ได้แปลว่าเป็นอย่างอื่นไม่เหนื่อย อย่างเช่นก็มีงานวิจัยในปี 2016 ที่บอกว่า ‘หลังจากที่พบปะสังสรรค์กับคนอื่น ไม่ว่าจะเป็น Introvert หรือ Extrovert ก็ต้องกลับมาชาร์จพลังกับตัวเองทั้งนั้น’ ความต่างก็คือ ในช่วงที่สังสรรค์ พวก Extrovert จะรู้สึกเหนื่อยน้อยกว่า Introvert เท่านั้นเอง แต่งานวิจัยนี้ก็ยังจำกัดอยู่ คือเป็นการสำรวจนักศึกษาในฟินแลนด์แค่ 48 คนเป็นเวลา 12 วันเท่านั้นเอง

 

 

Ref. 

TED: The Power of Introverts

Make Room, Introverts—Everyone Needs Time to Recharge

 

 

Leave a comment